วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

V-NET คืออะไร

V-NET คืออะไร

V-NET ย่อมาจาก Vocational National Education Test หมายถึง
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ทางด้านอาชีวศึกษา
เป็นการทดสอบวัดความรู้มาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ
ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา
ทีจะจบระดับชั้น ปวช.3 V-NET เทียบได้กับการทดสอบ O-NET
ของนักเรียนสายสามัญที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ
มัธยมปีที่ 6

ความสำคัญของการสอบ V-NET

การทดสอบ V-NET เป็นการสอบวัดมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ
ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ต้นสังกัด
และสถานศึกษาในการที่จะทราบมาตรฐานการเรียนการสอนของครูและ นักศึกษา
ผลการทดสอบ V-NET สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนของครู
อันจะส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาสูงขึ้นได้
รวมทั้งการนำผลการสอบ V-NET ไปใช้ในการประกันคุณภาพการศึกษาด้วย

V-NET สอบวิชาใดบ้าง

ตามโครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช
2545 ปรับปรุง พ.ศ. 2546 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย วิชาสามัญ
ไม่น้อยกว่า 26 หน่วยกิต วิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 66 หน่วยกิต
และวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 102
หน่วยกิต ฉะนั้นข้อสอบ V-NET ควรจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อสอบวิชาสามัญ
(ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และวิชาพละศึกษาและสุขศึกษา) ประมาณ ร้อยละ 20-25
และข้อสอบวิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียน ประมาณร้อยละ 75-80

ลักษณะของข้อสอบวิชาสามัญ
ควรเป็นข้อสอบในลักษณะวิชาสามัญที่บูรณาการกับวิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนเช่น
นักศึกษาสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์
ควรเป็นคณิตศาสตร์เกษตร ที่คำนวณเกี่ยวกับสูตรการผสมอาหารสัตว์
หรือคำนวณอัตราส่วนเมล็ดพันธุ์พืชต่อพื้นที่ปลูก เป็นต้น
สำหรับนักศึกษาสาขาวิชาช่างกล ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์
ควรเป็นคณิตศาสตร์ช่างที่คำนวณเกี่ยวกับนำหนัก แรง
หรือกำลังการทำงานของเครื่องมือกลต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนข้อสอบวิชาชีพนั้น
ในระยะแรก ควรจะเป็นข้อสอบแบบประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติงานอาชีพที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำตามสาขาวิชาชีพ
นั้น ๆ เพื่อลดภาระความยุ่งยากในการออกข้อสอบ และการจัดสอบ (ในปีการศึกษา
2552 หลักสูตรปวช. ที่เปิดทำการเรียนการสอนอยู่ทุกสถานศึกษา มีจำนวน 24
สาขาวิชา)

สอบ V-NET ใครรับผิดชอบ
การทดสอบ V-NET
ควรเป็นการดำเนินงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
และสถาบันการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ให้ศึกษานิเทศก์ และ
ครูที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาร่วมกันออก
ข้อสอบอยู่ภายใต้กรอบและการดำเนินการของ สทศ.
ส่วนการจัดสอบนั้นดำเนินการผ่านทางเครือข่ายของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีวศึกษาประจำภาค
และอาชีวศึกษาจังหวัด โดยอยู่ภายใต้การจัดการของ สทศ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น